Sunday, March 2, 2008

ANGKOR TRIP (ตอนเจ็ด - ปราสาทนครวัด ๒)

ปราสาทชั้นนอก
ทางเดินเข้าสู่มหาปราสาทนครวัดมี 5 ประตู ประตูใหญ่อยู่ตรงกลางสำหรับพระมหากษัตริย์ดำเนินเข้าสู่นครวัด ส่วนทางเข้าที่เล็กกว่าถัดออกไปสำหรับเสนาบดี และที่ไกลสุดอีกสองแห่งมีขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับประชาชนทั่วไปรวมทั้งสัตว์พาหนะ
ภาพสลักที่มหาปราสาทนครวัดนับเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของศิลปะขอม จนได้ชื่อว่าเป็นศิลปะยุคนครวัด
ปรากฏอยู่ที่ผนังด้านในระเบียงคตชั้นนอกสุดของตัวปราสาท พื้นที่รวมของภาพสลักมีนาดใหญ่มาก ยาวเกือบ 600 เมตร
เนื้อหาของภาพส่วนใหญ่มาจากคัมภีร์พระเวท และมหากาพย์ของศาสนาฮินดู
การชมภาพสลักที่ไม่ควรพลาด ได้แก่ ภาพการรบที่ทุ่งกุรุเกษตรในมหาภารตะยุทธ ภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ภาพการตัดสินความคดีและความชั่วของพญายม ภาพการกวนเกษียรสมุทร และยังมีภาพอื่นๆอีกมากมายหลายร้อยภาพให้ได้ชมกัน

ภาพการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร
เป็นเรื่องราวในมหาภารตยุทธ กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองตระกูล คือตระกูลปาณฑพ และเการพ ทั้งสองตระกูลยกทัพมารบกันขั้นแตกหักที่ทุ่งกุรุเกษตรทางตอนเหนือของอินเดีย ภาพสลักมีความยาว 49 เมตร เล่าเรื่องขณะสู้รบกัน ตระกูลเการพอยู่ทางด้านซ้ายและตระกูลปาณฑพอยู่ทางด้านขวา
ขอบภาพทั้งสองด้านเป็นภาพของทหารแต่ละฝ่ายยืนเรียงแถวกันเป็นระเบียบ มีนายทหารบนรถม้าศึกและหลังช้างการรบถึงขั้นตะลุมบอนรุนแรงที่บริเวณที่บริเวณกลางภาพ
ตัวละครเด่นๆ คือ ภีษมะ แม่ทัพของฝ่ายเการพอรชุน แม่ทัพฝ่ายปาณฑพ และพระวิษณุ ที่อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ ซึ่งเป็นผู้ขับรถศึกให้อรชุน
การรบดำเนินมาจนวันที่สิบ อรชุนก็สังหารภีษมะ จะเห็นภาพภีษมะนอนตายบนลูกธนูที่ถูกยิงทั่วทั้งตัว การรบสิ้นสุดลงในวันที่สิบแปด โดยตระกูลปาณฑพเป็นฝ่ายชนะและถือเป็นวันสิ้นสุดของยุค

ภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
เป็นภาพสลักที่ต่างจากทุกภาพ คือเป็นภาพจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ มีความยาวถึง 94 เมตร โดยแบ่งภาพออกได้เป็นสองส่วน
ส่วนแรกเป็นช่วงที่ยังไม่จัดตั้งขบวนทัพ ส่วนที่สองเป็นภาพขบวนทัพ
ในส่วนแรกนั้นแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนเป็นภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ประทับบนราชบัลลังก์ ล้อมรอบด้วยเหล่ารัฐมนตรี และแม่ทัพนายกองที่มาเฝ้า
ชั้นล่างเป็นภาพขบวนของเจ้าหญิงพระธิดาบนเสลี่ยง
เมื่อสิ้นสุดภาพในส่วนแรกก็เริ่มเป็นภาพขบวนทัพของทหารเดินเรียงไปตลอดแนว พร้อมกับแม่ทัพนายกองของแต่ละกองทัพบนหลังช้าง เกือบหน้าสุดของขบวนทัพเป็นกองทัพที่มีลักษณะแตกต่างจากทัพอื่นทหารมีใบหน้าที่โค้งมน สวมเสื้อลายดอก นุ่งผ้าคล้ายกระโปรง ชายผ้ายาว สวมหมวกทรงสูงเป็นชั้นๆ ที่ปลายมีภู่ยาว แม่ทัพอยู่บนหลังช้างเช่นกัน สันนิษฐานว่าเป็นทัพของชาวสยาม

นรก สวรรค์ การพิพากษาของพญายม (ระเบียงคตทิศใต้ ด้านทิศตะวันออก)
ภาพสลักนี้นักโบราณคดีหลายท่านเชื่อว่ามีขึ้นหลังจากที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เสด็จสวรรคตแล้ว
ลักษณะของภาพแบ่งเป็นสองตอน แต่ละตอนแบ่งออกเป็นสองถึงสามชั้น ซึ่งชั้นบนจะเป็นบนโลก และสวรรค์ ชั้นล่างสุดเป็นนรก
ในตอนแรกซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ เป็นภาพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เสด็จนำเหล่าข้าราชบริพารที่ดีขึ้นสวรรค์ พวกอสูรและคนไม่ดีตกนรก
ในตอนที่สองชั้นกลางเป็นภาพพญายมสิบแปดมือนั่งพิพากษาความดี-ชั่ว ของคนตายบนหลังควายซึ่งเป็นสัตว์พาหนะ
และภาพที่นับเป็นจุดเด่นของภาพสลักนี้คือภาพชั้นล่างของนรกขุมต่างๆ ที่มีการทรมานคนชั่วคนบาป ตามคติขอมเชื่อว่านรกภูมิแบ่งเป็นชั้นถึง 32 ชั้น

ภาพกวนเกษียรสมุทร
การกวนเกษียรสมุทรมีจุดประสงค์เพื่อผลิตน้ำอมฤต โดยใช้เวลาถึง 1,000 ปี น้ำอมฤตนั้นมีฤทธิ์ทำให้ผู้ที่ได้ดื่มกินเป็นอมตะ
บางตำรากล่าวถึงสาเหตุของการกวนเกษียรสมุทรว่าเนื่องมาจากเทวดาและอสูรมักจะสู้รบ ยกทัพมาปราบอีกฝ่ายบ่อยครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่เรื่อยมา ฝ่ายเทวดาจึงไปขอคำปรึกษากับพระวิษณุว่า ทำอย่างไรจึงจะรบชนะเหล่าอสูรได้ตลอดทุกครั้ง พระวิษณุจึงแนะนำเรื่องการกวนเกษียรสมุทรเพื่อผลิตน้ำอมฤต ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่และต้องใช้พละกำลังมาก โดยใช้ภูเขามันทระเป็นแกนหมุน ใช้นาควาสุกรีแทนเชือกพันรอบเขามันทระแล้วแบ่งเป็นสองฝ่ายผลัดกันดึงสลับไป-มา เทวดาได้ยินดังนั้นก็ออกอุบายยืมแรงอสูรให้มาช่วยดึงนาคเพื่อกวนทะเลน้ำนม และให้สัญญาว่าจะแบ่งน้ำอมฤตที่ได้ให้ ฝ่ายอสูรเห็นดีก็ตอบตกลง จึงแบ่งด้านกันกวน ฝ่ายเทวดาอยู่ดึงนาควาสุกรีด้านหาง ฝ่ายอสูรให้ดึงด้านหัว
การกวนครั้งนั้นใช้เวลานาน เขามันทระก็ค่อยๆ เจาะโลกลึกลงๆ พระวิษณุเป็นห่วงว่าโลกจะทะลุหรือแตกสลาย จึงได้อวตารเป็นเต่า (ปางกูรมาวตาร) เอากระดองรองรับเขามันทระไว้ (ซึ่งเป็นตอนที่ปรากฏบนฝาผนัง)
จากขอบภาพด้านซ้ายจะเป็นภาพกองทัพเหล่าอสูรเตรียมตัวพร้อมรบ เพื่อแย่งน้ำอมฤตมาเป็นของตนฝ่ายเดียว ถัดไปจึงเป็นหัวแถวกวนเกษียรสมุทรด้านอสูร ตนแรกที่เป็นผู้ถือหัวนาควาสุกรีคือทศกัณฑ์ จากจุดนี้บ่งบอกได้ว่า ขอมโบราณได้รวมเอามหากาพย์รามายณะรวมกับคัมภีร์พระเวท ถัดไปเป็นแถวอสูรอีก 91 ตน ไปจนถึงกลางภาพ จะเห็นพระวิษณุสี่กร คอยควบคุมการกวนอยู่หน้าเขามันทระ ใต้เขามันทระเป็นเต่าเอากระดองรองเขา เหนือเขามันทระมีพระอินทร์คอยจับเขาให้ตรง ถัดไปด้านขวาเป็นแถวของเทวดา 88 องค์ ท้ายสุดผู้ถือหางคือหนุมาน ช่วงท้ายของภาพเป็นกองทัพของเหล่าเทวดาเตรียมตัวแย่งน้ำอมฤตจากอสูรเช่นเดียวกัน

จริง ๆ แล้ว ควรจะเตรียมข้อมูลไปเยอะ ๆ พกหนังสือคู่มือนำเที่ยวนครวัดไปด้วยก็จะดีมาก จะได้อรรถรสในการชมมากยิ่งขึ้น หรือถ้ามีเงินพอที่จะจ้างไกด์ก็จะดียิ่ง ไกด์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกของที่นี่ พูดได้หลายภาษา ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ไทย อื่น ๆ ได้คล่องปรื๋อ เล่าเรื่องราวตามภาพแกะสลัก ฟังแล้วสนุกดี

No comments: