Sunday, March 9, 2008

ANGKOR TRIP (ตอนสิบแปด)

ปราสาทนาคพัน สร้างในปีพุทธศตวรรษที่ 18 รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ศิลปะแบบบายน

ในบรรดาปราสาทที่ก่อสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต้องยกให้ปราสาทนาคพันที่มีการก่อสร้างที่แปลกตามากที่สุด ตัวปราสาทตั้งอยู่กลางสระน้ำ เปรียบเสมือนเกาะอยู่กลางทะเล หรือเปรียบกับภูเขาหิมาลัยที่อยู่กลางมหาสมุทร น้ำจากสระแห่งนี้ถือเป็นน้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือเปรียบประหนึ่งน้ำจากสระอโนดาต ซึ่งเป็นศูนย์รวมจากแม่น้ำทั้ง 5 ในอินเดีย ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำเนรัญชลา แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำพรหมบุตร ผู้ใดที่อาบหรือดื่มกินน้ำจากสระนี้โดยผ่านจากปากของราชสีห์ ช้าง ม้า และมนุษย์ที่อยู่ในศาลาทั้งสี่ทิศ เชื่อว่าจะสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้

หากเราสังเกตจะพบว่าปราสาทนาคพัน ถูกออกแบบเปรียบประหนึ่งถูกสร้างอยู่ใจกลางเกาะซึ่งมีน้ำล้อมรอบแต่ปัจจุบันบารายนั้นได้ตื้นเขินหมดแล้ว จึงมองภาพไม่ออกว่าปราสาทนี้ตั้งอยู่กลางน้ำอีกต่อไป

นาคพันรอบฐานปราสาท กลางสระน้ำเป็นที่ตั้งของฐานปราสาทที่มีลักษณะกลมเป็นชั้นๆ ที่ฐานหรือชั้นล่างสุดของฐานปราสาทนี้ เป็นนาคเจ็ดเศียรสองตัวที่หางเกี่ยวพันกันทางทิศตะวันตก ลำตัวโอบล้อมฐานหันหน้ามาทางทิศตะวันอออก นาคสองตัวนี้เชื่อกันว่าเป็นพญานาคที่ชื่อว่านันทะและอุปานันทะ

ภาพสลักที่ปรางค์ประธาน ตรงกลางของสระมีบันไดขึ้นไป 7 ชั้น สู่ปรางค์ประธานซึ่งอยู่ตรงกลาง ทางเข้าอยู่ทิศตะวันออก ส่วนอีก 3 แห่งรอบปราสาทเป็นประตูหลอก ที่มุมของปรางค์ประธานมีรูปพญาครุฑ ด้านหลังของปรางค์ประธานมีภาพสลักคติธรรมทางพุทธศาสนา แต่ภาพเหล่านี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นความเชื่อตามศาสนาฮินดู เช่น ภาพสลักเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ภาพนี้ถูกดัดแปลงให้มีรูปลักษณะคล้ายศิวลึงค์ อีกภาพหนึ่งเป็นภาพสลักเมื่อพระพุทธเจ้านั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นโพธิ์ก็ถูกดัดแปลงเช่นกัน

ประติมากรรมลอยตัวรูปม้าพลาหะ อยู่ด้านหน้าของปรางค์ประธานด้านทิศตะวันออก ม้าพลาหะเป็นอวตารหนึ่งของพระโพธิสัวต์อวโลกิเตศวร ตามตำนานกล่าวว่าเมื่อพ่อค้าจากอินเดียลงเรือสำเภาเพื่อเดินทางไปยังเกาะศรีลังกาเกิดพายุระหว่างทาง เรือถูกพายุโหมกระหน่ำจนเรือแตก พระโพธิสัตว์ได้แปลงพระองค์เป็นม้ามีปีกลงไปให้ความช่วยเหลือคนที่อยู่กลางมหาสมุทรได้อย่างปลอดภัย ม้าพลาหะเปรียบเสมือนยานพาหนะลำใหญ่ที่พาผู้คนสู่มรรคผลนิพพาน

รูปสลักคน ราชสีห์ ม้า ช้าง รูปสลักในศาลาทางด้านทิศตะวันออกมีลักษณะเป็นใบหน้าของมนุษย์ ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นรูปใบหน้าราชสีห์ รูปของม้าอยู่ทางด้านทิศตะวันตก และรูปของช้างอยู่ทางทิศเหนือ สันนิษฐานว่ารูปสลักใบหน้ามนุษย์เดิมทีเป็นหน้าของวัว เพื่อให้สอดคล้องกับคติธรรมทางศาสนาฮินดูเช่นเดียวกับภาพสลักพระพุทธเจ้าที่ถูกสกัดใบหน้า ลำตัว แขน ออกให้เหลือฐานกับลำตัวมองดูคล้ายศิวลึงค์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8

No comments: