Sunday, March 2, 2008

ANGKOR TRIP (ตอนเจ็ด - ปราสาทนครวัด ๑)

ตัวปราสาทนครวัด
ประกอบด้วยโครงสร้างหลักที่เด่นๆ ของสถาปัตยกรรมขอม 2 ส่วน คือ ปิรามิดปราสาทและระเบียงคตที่เชื่อมติดกัน ในส่วนของปิรามิดปราสาทสร้างยกระดับขึ้นสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยระเบียงคต มีโคปุระอยู่ทั้งสี่ทิศหลักและศาลาที่มุมทั้งสี่มุม หรือปราสาทบริวารล้อมรอบของปรางค์ประธาน

ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของนครวัด สัญลักษณ์ต่างๆที่แทนในสิ่งก่อสร้างทั้งหลายตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูก็ให้ภาพและความรู้สึกที่คล้ายจริง

- คูเมืองหมายถึงมหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก

- ระเบียงคตที่เชื่อมกันล้อมรอบปราสาท หมายถึงเทือกเขาน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทพเจ้า

- และตัวปราสาทชั้นบนสุดหรือปรางค์ประธานหมายถึงยอดเขาพระสุเมรุ การได้ขึ้นไปถึงปรางค์ประธานอันสูงชันก็เหมือนการจำลองการขึ้นเขาพระสุเมรุจริงๆ

จุดเด่นที่สุดจุดหนึ่งของมหาปราสาทนครวัด นอกเหนือจากสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ ก็คือภาพสลักบนผนังด้านในของระเบียงคตชั้นล่างของตัวปราสาท

แม้เรื่องราวส่วนใหญ่จะมาจากมหากาพย์และคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู แต่ก็ไม่ลืมกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผู้สร้างไว้ด้วยโดยสลักเป็นรูปกระบวนทัพของพระองค์ ส่วนหนึ่งในภาพสลักนี้มักเป็นที่สนใจหยุดชมของนักท่องเที่ยวเสมอ คือภาพกองทัพชาวสยาม ซึ่งปัจจุบันยังหาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่าเป็นชาวสยามกลุ่มใด โดยมีลักษณะเด่นที่การแต่งกาย การเดินทัพที่ดูไม่เป็นแถว ไม่เป็นระเบียบ

สังเกตไปสังเกตมา จะเห็นว่ามีบางช่วงที่ภาพสลักจะเป็นเงา สาเหตุก็เนื่องมาจากคนเรานี่แหละ ชอบกันนัก เค้าไม่ให้แตะ ไม่ให้ต้อง ไม่ให้สัมผัส ก็ยังไม่วาย เฮ้อ...คนหนอคน

No comments: