Wednesday, May 27, 2009

เวียนหัว??? (ตอน 2)

งั้นมาเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่แม่ของ NaaToy ประสบพบเจอกันดีกว่า

โรคตะกอนในหูชั้นใน

ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะ เวลามีการขยับศีรษะ ในท่าต่างๆ เช่น บ้านหมุนเป็นขึ้นทันทีเวลาจะนอน, เงยหน้าหยิบของบนชั้น หรือไปสระผมที่ร้านเสริมสวย ในขณะที่เป็นจะรู้สึกรอบๆตัวหมุนไปหมด คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ต้องนอนนิ่ง ซักพักจะดีขึ้น แต่ถ้าขยับศีรษะก็จะมีอาการบ้านหมุนขึ้นมาใหม่ เป็นๆหายๆ เป็นวันหรือสัปดาห์ ศัพท์แพทย์ที่ใช้ตรงตามลักษณะของโรค คือ Benign Paroxysmal Positional Vertigo (BPPV) แปลตามตัวได้ว่า โรคเวียนศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า

สาเหตุ : ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะมาก่อน, เคยมีติดเชื้อในหูชั้นใน และที่สำคัญ คือ อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

พยาธิสภาพ : ปรกติในหูชั้นใน จะประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. อวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) มีหน้าที่รับการได้ยิน

2. อวัยวะรูปครึ่งวงกลม (semicircular canal) เชื่อมต่อกันสามชิ้น มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว

เชื่อว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการตกตะกอนของสารที่อยู่ข้างใน หรือมีหินปูนหลุดจากอวัยวะข้างเคียงเข้ามาอยู่ในส่วนครึ่งวงกลมดังกล่าว ทำให้เวลาที่ผู้ป่วยขยับศีรษะ เกิดการสั่นของเจ้าตะกอนในหูข้างที่มีปัญหา สัญญาณที่ส่งจากหูทั้งสองข้างไปยังสมองส่วนกลางจึงไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความรู้สึกบ้านหมุนขึ้นมานั่นเองค่ะ

การดำเนินโรค : โดยทั่วไปอาการเวียนในครั้งแรกจะรุนแรง ต่อมาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง อาการบ้านหมุน สามารถเป็นได้ หลายๆครั้งต่อวัน จากนั้นอาการค่อยดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน ในบางรายอาการจะกลับเป็นซ้ำได้อีกในเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่มีเสียงผิดปรกติหรือหูไม่ได้ยิน และไม่พบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย จะรู้ตัวดีตลอด ไม่มีอาการหมดสติ

การรักษา : พบว่าการทำกายภาพบำบัด (vestibular exercise) เป็นวิธีปัจจุบันยอมรับว่าได้ผลดีมาก แบ่งได้ 2 วิธี


วิธีแรก ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเวียนศีรษะเท่านั้น ซึ่งจะต้องประเมินก่อนว่าผู้ป่วยมีข้อห้ามในการทำด้วยวิธีดังกล่าวหรือไม่ เช่น มีหมอนรองกระดูกคอเสื่อม เส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ(carotid artery stenosis) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ชนิดไม่คงที่(unstable angina) โดยแพทย์จะหมุนศีรษะผู้ป่วย (ดังภาพ) เพื่อให้ตะกอนเคลื่อนที่ออกมาจากอวัยวะรูปครึ่งวงกลมที่คุมเรื่องการทรงตัว วิธีนี้ ได้ผลประมาณ 50-70% หลังจากทำครั้งแรก หากทำซ้ำอีกจะได้ผลถึง 90% ทีเดียว

วิธีที่สอง ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำที่บ้านเองได้ อาศัยการทำซ้ำๆ อาการจะค่อยดีขึ้น โดยให้ผู้ป่วยนั่งข้างเตียง แล้วล้มตัวด้านข้างจนหูแนบที่นอน ถ้ามีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นให้ค้างในท่านั้นจนกว่าจะดีขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 3-5 นาที แล้วลุกนั่งเพื่อล้มไปยังด้านตรงข้ามใหม่ (ตามภาพประกอบ) ควรทำซ้ำๆ อย่างน้อย 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น อาการจะดีขึ้นในหนึ่งสัปดาห์
ขอขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จาก www.praram9.com

เวียนหัว??? (ตอน 1)

สืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว NaaToy ไปรพ.กับแม่ เพราะว่าแม่เกิดอาการวิงเวียน บ้านหมุน ก้มหน้าแล้วเหมือนจะวูบ หน้าจะมืด พอหมอซักถามอาการ ทดลองให้ทำนู่นทำนี่แล้ว คุณหมอก็สันนิษฐานว่าสงสัยจะเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นแน่แท้ เนื่องจากการเวียนหัวนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน จึงยากที่จะสันนิษฐานได้เป๊ะ คุณหมอจึงนัดให้แม่ NaaToy มาตรวจอีกครั้งอีกสองอาทิตย์ถัดมา

เมื่อถึงวันนัดครั้งที่สอง คุณหมอตรวจอีกครั้ง ให้ทำนู่นทำนี่ดู ซักถามอาการอีกเช่นเคย แต่คราวนี้คุณหมอสันนิษฐานว่าอาการนี้คงเกิดจากตะกอนหินปูนในหูมันเคลื่อน ก็เลยต้องลองประมาณว่าทำกายภาพบำบัดให้ ก็ปรากฎว่าหายดีขึ้นเยอะเลยทีเดียว
ด้วยความสงสัยใคร่รู้อีกเช่นเคย NaaToy จึงทำการค้นคว้าหาข้อมูลอีกเช่นเคย ดังต่อไปนี้

ท่านเวียนศีรษะประเภทไหน

การจะวินิจฉัยและรักษาจะต้องทราบก่อนว่าอาการเวียนศีรษะที่ท่านเป็นอยู่เป็นชนิดไหน ซึ่งแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆได้ 4 ชนิด

1.อาการเวียนศีรษะแบบบ้านหมุน vertigo เป็นอาการที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน การเปลี่ยนท่า เช่นหันหน้าหรือการเปลี่ยนจากนอนเป็นนั่งจะทำให้เกิดอาการหมุน ผู้ป่วยมักจะนอนหลับตา หากลืมตาบ้านจะหมุนทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน สาเหตุเกิดจากโรคของหูชั้นใน โรคที่เป็นสาเหตุได้แก่
-Benign paroxysmal positional vertigo (BPPV) เมื่อท่านหันศีรษะหรือพลิกตัวจะทำให้ท่านเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดจากโรคหูชั้นใน
-Vestibular neuronitis (labyrinthitis) เกิดจาการอักเสบของหูชั้นในจากเชื้อไวรัส
-Meniere's disease เกิดจากน้ำเลี้ยงในหูชั้นในเพิ่มขึ้น
-Acoustic neuroma เกิดจากเนื้องอกกดเส้นประสาท
-Medications ยาหลายชนิดทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะเช่น Aspirin, streptomycin, gentamicin, caffeine, alcohol และยาโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ

2.อาการหน้ามืดเป็นลม Fainting มักเกิดขณะนั่งหรือนอนแล้วลุกขึ้นยืนผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นลม หน้ามืด มีอาการใจสั่น เหงื่อออก หน้าซีด ต้องนอนหรือนั่งจึงจะดีขึ้นที่สำคัญคือจะไม่หมดสติ บางรายมีคลื่นไส้ สาเหตุ
-ความดันโลหิตต่ำ เมื่อท่านลุกขึ้นยืนเลือดจะไหลไปที่เท้าเนื่องจากแรงโน้มถ่วง ร่างกายจะปรับตัวโดยการบีบตัวของหลอดเลือดดำเพื่อให้เลือดกลับไปที่หัวใจเพิ่มนอกจากนั้นหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น การปรับตัวทั้งสองเป็นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้อาจจะเกิดจากยาลดความดันโลหิต การเจ็บป่วยทำให้ได้รับน้ำไม่พอ ผู้ป่วยขาดน้ำอย่างรุนแรงเช่นท้องร่วงหรืออาเจียน หัวใจเต้นเร็วไปหรือช้าไป โรคของระบบประสาทอัตโนมัติเช่นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่นอนนานๆ ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอชั่วคราวทำให้เกิดอาการหน้ามืด
-เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอจากโรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ

3.ผู้ป่วยที่มีอาการหนักศีรษะมึนๆ ผู้ป่วยรู้สึกมึนในศีรษะสาเหตุที่พบบ่อยได้แก่
-โรคหูชั้นใน
-โรคเครียด
-เวียนศีรษะแบบเดินเซทรงตัวไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการทรงตัวไม่ได้เวลาเดิน โรคที่เป็นสาเหตุได้แก่
-โรคหูชั้นใน
-โรคของระบบประสาท
-ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมและกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้ทรงตัวลำบาก
-จากยา เช่นยานอนหลับ ยากันชัก

ขอขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จาก www.siamhealth.net

Thursday, May 7, 2009

พวกเรานั่งนานเกินไปแล้ว!!!

สืบเนื่องจากเรื่องราวที่แล้วเกี่ยวกับผลเสียของการนั่งออกกำลังกาย ทำให้ NaaToy ให้ตระหนักขึ้นมาบ้าง เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน แต่เป็นกรณีที่เรา ๆ ท่าน ๆ ในปัจจุบัน นั่งกันมากหรือนานจนเกินไป มันทำให้ก่อผลเสียอีกเช่นกัน เชิญอ่านได้แล้วจ้ะ

โดยเฉลี่ยแล้วเรานั่งทำงานวันละประมาณ 8 ชม. และอีกสี่ชม.กับการนั่งดูทีวี เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ท เทคโนโลยีทำให้เรานั่งนานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน บ้าน รวมทั้งสันทนาการต่าง ๆ

ปัจจุบันการนั่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ นั่นก็คือ
1. เมื่อเรานั่งผิดท่าผิดทาง กระดูกสันหลังจะงอโก่งผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหมอนรองกระดูก กล้ามเนื้อ ข้อต่อ ซึ่งเป็นเหตุให้ปวดหลัง และกระดูกสันหลังเสื่อม
2. เมื่อเรานั่งเป็นเวลานานระบบของร่างกายจะไม่ทำงาน ทั้งการไหลเวียนโลหิต การหายใจ ระบบการย่อยอาหาร บ่อยครั้งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อีกด้วย

งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ พบว่าการนั่งนาน ๆ เป็นผลเสียอย่างมากต่อการเผาผลาญไขมันและคอเลสเตอรอล กลูโคส ความดันโลหิต และการเพิ่มของไขมันหน้าท้อง ปกติแล้วไขมันในกระแสเลือดถูกทำลายด้วยเอนไซม์ไลเปส (มีหน้าที่ย่อยไขมันและวิตามินชนิดละลายในไขมัน) และจากนั้นจะถูกดูดซึมไปยังกล้ามเนื้อเพื่อเก็บไว้เป็นพลังงาน

การไหลเวียนของไลเปสถูกทำลายลงด้วยการนั่งนาน ๆ เมื่อไขมันในกระแสเลือดถูกปล่อยให้ไหลเวียนใหม่ มันจะถูกเก็บไว้เป็นไขมันในร่างกายหรืออาจทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่เป็นที่แปลกใจว่างานวิจัยจำนวนมากพบว่าคนที่นั่งนาน ๆ นั้น มีอัตราการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง มากกว่าคนปกติ 2-3 เท่าตัว แถมอัตราการเสียชีวิตก็มีมากกว่าด้วย นอกจากนี้มันยังส่งผลเสียต่อสุขภาพพอ ๆ กับการสูบบุหรี่หรือระดับคอเลสเตอรอลสูงด้วย

การออกกำลังอย่างถูกต้องนั้นทำให้ร่างกายแข็งแรง การไหลเวียนโลหิต ความหนาแน่นของกระดูก ดีขึ้น แต่การออกกำลังกายนิด ๆ หน่อย ๆ บ้าง อย่างสม่ำเสมอ ก็จำเป็นในระหว่างวันเช่นกัน มันช่วยลดระยะเวลาของการนั่งนาน ๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการออกกำลังกายของคน ๆ นั้นด้วย

ถ้าคุณต้องนั่งทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณควรลุกขึ้นมาหาสถานที่ส่วนตัวนิดนึง บริหารร่างกายด้วยการ squats และ push ups กับกำแพง อาจจะบริหารทุกชั่วโมงก็ได้ แค่การเคลื่อนไหวสองสามนาที กล้ามเนื้อก็ได้ทำงานแล้ว เกิดการทำงานของเลือด สารอาหาร และออกซิเจน ช่วยให้ร่างกายคุณแข็งแรงขึ้นมาบ้าง

แค่เพียงลุกยืนขึ้น กล้ามเนื้อก็ทำงาน และร่างกายก็พร้อมสำหรับกระบวนการทำลายไขมันและคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดแล้ว และอาจช่วยทำลายการเติบโตของโรคเบาหวานได้ด้วย และเมื่อเปรียบเทียบการยืนกับการนั่งแล้ว การยืนเบิร์นแคลอรี่ได้มากกว่าการนั่งด้วยซ้ำ

อย่านั่งจนเป็นนิสัย พยายามยืนและเคลื่อนไหวเข้าไว้ เพื่อการเผาผลาญและสุขภาพของเราไม่ย่ำแย่ลง ร่างกายเรานั้นต้องฟิตและแข็งแรงเสมอ

*** เรื่องราวจาก Ezinearticle เช่นเคยจ้ะ ***