Wednesday, May 27, 2009

เวียนหัว??? (ตอน 2)

งั้นมาเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับโรคที่แม่ของ NaaToy ประสบพบเจอกันดีกว่า

โรคตะกอนในหูชั้นใน

ผู้ป่วยมักมีอาการเวียนศีรษะ เวลามีการขยับศีรษะ ในท่าต่างๆ เช่น บ้านหมุนเป็นขึ้นทันทีเวลาจะนอน, เงยหน้าหยิบของบนชั้น หรือไปสระผมที่ร้านเสริมสวย ในขณะที่เป็นจะรู้สึกรอบๆตัวหมุนไปหมด คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ต้องนอนนิ่ง ซักพักจะดีขึ้น แต่ถ้าขยับศีรษะก็จะมีอาการบ้านหมุนขึ้นมาใหม่ เป็นๆหายๆ เป็นวันหรือสัปดาห์ ศัพท์แพทย์ที่ใช้ตรงตามลักษณะของโรค คือ Benign Paroxysmal Positional Vertigo (BPPV) แปลตามตัวได้ว่า โรคเวียนศีรษะเวลาเปลี่ยนท่า

สาเหตุ : ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบบ่อยในผู้ป่วยที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางศีรษะมาก่อน, เคยมีติดเชื้อในหูชั้นใน และที่สำคัญ คือ อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป

พยาธิสภาพ : ปรกติในหูชั้นใน จะประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน คือ

1. อวัยวะรูปก้นหอย (cochlea) มีหน้าที่รับการได้ยิน

2. อวัยวะรูปครึ่งวงกลม (semicircular canal) เชื่อมต่อกันสามชิ้น มีหน้าที่ควบคุมการทรงตัว

เชื่อว่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีการตกตะกอนของสารที่อยู่ข้างใน หรือมีหินปูนหลุดจากอวัยวะข้างเคียงเข้ามาอยู่ในส่วนครึ่งวงกลมดังกล่าว ทำให้เวลาที่ผู้ป่วยขยับศีรษะ เกิดการสั่นของเจ้าตะกอนในหูข้างที่มีปัญหา สัญญาณที่ส่งจากหูทั้งสองข้างไปยังสมองส่วนกลางจึงไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความรู้สึกบ้านหมุนขึ้นมานั่นเองค่ะ

การดำเนินโรค : โดยทั่วไปอาการเวียนในครั้งแรกจะรุนแรง ต่อมาจะค่อยๆ ลดความรุนแรงลง อาการบ้านหมุน สามารถเป็นได้ หลายๆครั้งต่อวัน จากนั้นอาการค่อยดีขึ้นในเวลาเป็นสัปดาห์หรือเดือน ในบางรายอาการจะกลับเป็นซ้ำได้อีกในเวลาเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่มีเสียงผิดปรกติหรือหูไม่ได้ยิน และไม่พบอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย จะรู้ตัวดีตลอด ไม่มีอาการหมดสติ

การรักษา : พบว่าการทำกายภาพบำบัด (vestibular exercise) เป็นวิธีปัจจุบันยอมรับว่าได้ผลดีมาก แบ่งได้ 2 วิธี


วิธีแรก ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเวียนศีรษะเท่านั้น ซึ่งจะต้องประเมินก่อนว่าผู้ป่วยมีข้อห้ามในการทำด้วยวิธีดังกล่าวหรือไม่ เช่น มีหมอนรองกระดูกคอเสื่อม เส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอตีบ(carotid artery stenosis) หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ชนิดไม่คงที่(unstable angina) โดยแพทย์จะหมุนศีรษะผู้ป่วย (ดังภาพ) เพื่อให้ตะกอนเคลื่อนที่ออกมาจากอวัยวะรูปครึ่งวงกลมที่คุมเรื่องการทรงตัว วิธีนี้ ได้ผลประมาณ 50-70% หลังจากทำครั้งแรก หากทำซ้ำอีกจะได้ผลถึง 90% ทีเดียว

วิธีที่สอง ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำที่บ้านเองได้ อาศัยการทำซ้ำๆ อาการจะค่อยดีขึ้น โดยให้ผู้ป่วยนั่งข้างเตียง แล้วล้มตัวด้านข้างจนหูแนบที่นอน ถ้ามีอาการบ้านหมุนเกิดขึ้นให้ค้างในท่านั้นจนกว่าจะดีขึ้นซึ่งส่วนใหญ่ไม่เกิน 3-5 นาที แล้วลุกนั่งเพื่อล้มไปยังด้านตรงข้ามใหม่ (ตามภาพประกอบ) ควรทำซ้ำๆ อย่างน้อย 5-10 ครั้ง เช้า-เย็น อาการจะดีขึ้นในหนึ่งสัปดาห์
ขอขอบคุณเรื่องราวดี ๆ จาก www.praram9.com

No comments: