Thursday, March 6, 2008

ANGKOR TRIP (ตอนสิบสอง)

ปราสาทตาพรหม
สร้างในปลายปีพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1729) รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการขยายพื้นที่สร้างต่อเติมอีกในรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 เป็นศิลปะแบบบายน ถือเป็นวัดในพุทธศาสนาและเป็นวิหารหลวงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้แก่พระราชมารดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือพระนางชัยราชจุฑามณีผู้เปรียบประดุจกับพระนางปรัชญาปรมิตา ซึ่งหมายถึงเมื่อพระองค์เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระราชมารดาของพระองค์จึงเปรียบดังพระนางปรมิตาเช่นกัน

ปราสาทตาพรหมถูกสร้างเคียงคู่กับปราสาทพระขรรค์ สร้างหลังปราสาทพระขรรค์เพียง 5 ปี ถือเป็นวัดในพุทธศาสนาที่มีขนาดใหญ่คือมีปราสาทถึง 24 หลัง สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้อดีตเป็นทั้งพระอารามหลวงในศาสนาพุทธ และมหาวิทยาลัยสำหรับสอนภาษาสันสกฤตอีกด้วย

ที่น่าประหลาดใจคือพิธีในปราสาทยุคนั้น ซึ่งจารึกกล่าวถึงบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทแห่งนี้คือ จำนวนคนและบรรดาทรัพย์สินจากหมู่บ้านจำนวนถึง 3,140 หมู่บ้าน ใช้คนทำงานถึง 79,365 คน และจำนวนนี้มีพระชั้นผู้ใหญ่ 18 รูป เจ้าหน้าที่ประกอบพิธี 2,740 คน ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ประกอบพิธี 2,202 คน และนางฟ้อนรำอีก 615 คน สำหรับทรัพย์สมบัติของวัดก็มีจานทองคำ 1 ชุดหนักกว่า 500 กิโลกรัม และชุดเงินเพชร 35 เม็ด ไข่มุก 40,620 เม็ด หินมีค่าและพลอยต่างๆ 4,540 เม็ด อ่างทองคำขนาดใหญ่ ผ้าบางสำหรับคลุมหน้าจากประเทศจีน 876 ผืน เตียงคลุมด้วยผ้าไหม 512 เตียง ร่ม 523 คัน ยังมีเนย นม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ไม้จันทน์ การบูร เสื้อผ้า 2,387 ชุด เพื่อแต่งรูปปั้นต่างๆ กล่าวกันว่าความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความล่มสลายของอาณาจักรขอมในเวลาต่อมา

ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่ถูกปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ หลังจากการค้นพบปราสาทต่างๆ โดยชาวฝรั่งเศส แต่เดิมปราสาทนครวัดเองก็อยู่ในลักษณะเช่นนี้ก่อนที่จะมีการบูรณะในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ในขณะที่ปราสาทตาพรหม - ในจารึกแล้วจริงปราสาทแห่งนี้มีชื่อว่าปราสาทราชวิหาร แต่เนื่องจากนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสไม่ได้อ่านจารึก จึงเรียกชื่อปราสาทแห่งนี้ตามชื่อคนดูแล จึงกลายเป็นที่มาของชื่อปราสาทตาพรหมจนถึงทุกวันนี้ - ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงว่าปราสาทอยู่กับธรรมชาติมาได้เกือบ 500 ปี อันเป็นอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อให้เห็นลักษณะของต้นไม้ที่เกาะกุมปราสาท

เดิมก่อนสร้างปราสาทนั้นสภาพบริเวณนี้เป็นป่ามาก่อน เมื่อจะสร้างปราสาทจึงต้องเคลียร์พื้นที่ให้เป็นที่โล่ง โดยการตัดไม้ออกแต่ในที่สุดแล้วธรรมชาติก็สามารถที่จะเอาชนะถาวรวัตถุที่ถูกสร้างจากมนุษย์ ต้นไม้ที่เกาะกุม ชอนไชไปเรื่อยๆ ไปยังส่วนต่างๆของปราสาท ช่วยให้บรรยากาศของปราสาทตาพรหมดูลึกลับ สวย ไม่เหมือนปราสาทที่อื่นๆ

ที่ปราสาทตาพรหมมีต้นไม้อยู่ 2 ชนิด ต้นที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า ต้นสะปง หรือภาษาไทยเรียกว่า ต้นสำโรง เป็นต้นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน รากของมันจะดุดน้ำใต้ดินเข้าลำต้นทำให้ดูป่อง พอง ส่วนพันธุ์ไม้อีกพันธุ์หนึ่งเป็นไม้เลื้อยขึ้นอยู่ตามหน้าบัน ทับหลังหรือตัวปราสาท หลังคา ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก บ้างก็แห้งตายคาอยู่ บ้างก็ยังเขียวสดอยู่ เกิดจากการที่นกมาขับถ่ายมูลที่มีเมล็ดของพันธุ์นี้ทิ้งไว้ บริเวณใดของปราสาทที่มีน้ำขังอยู่มีตะไคร่น้ำที่ให้ความชุ่มชื้น ก็สามารถทำให้เมล็ดพันธุ์เติบโตเป็นต้นได้ ทั้งไม้เล็กและไม้ใหญ่ต่างเติบโตตามสภาวะที่เอื้ออำนวยรากของไม้ใหญ่ที่แทรกชอนไชไปบนแผ่นศิลา เพื่อจะหาที่ลงดินเกิดเป็นรูปทรงคล้ายหนวดปลาหมึกเกาะกุมองค์ปราสาททำให้ช่วยประคองยึดตัวปราสาทไม่ให้พังลงมาได้

No comments: