Wednesday, August 5, 2009

ความดันโลหิตสูง(2)

ความดันโลหิตสูง ภัยเงียบที่ไม่มีอาการ
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจล้มเหลว โรคไตวาย และโรคอัมพาต ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการจนกว่าจะเกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ การตรวจวัดความดันสม่ำเสมอจะช่วยวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก และการควบคุมความดันโลหิตให้ได้ถึงเกณฑ์ปกติ ตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยจะช่วยให้ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น


จะทำอย่างไร..เมื่อรู้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่เริ่มเป็น หรือระดับความดันโลหิตยังสูงไม่มาก จะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมซึ่งถ้าหากผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอจะทำให้ความดันโลหิตกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ (ความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท) โดยไม่ต้องอาศัยการรับประทานยา

หลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อความดันโลหิตสูง

1. ลดน้ำหนัก : ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่น้ำหนักเกิน หรืออ้วน การลดน้ำหนักลงจะได้ประโยชน์ในการลดความดันโลหิตมาก การลดน้ำหนักลง 10 กิโลกรัม จะลดความดันโลหิตได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท ความจริงแล้วผลดีอื่นๆ ที่ได้จากการลดน้ำหนักมีมากกว่าการลดความดันโลหิต เช่น ป้องกันการเกิดเบาหวาน ภาวะหัวใจล้มเหลว ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น ควรควบคุมไม่ให้ดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 25 กก./ตรม.
*** ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร) ***

2. หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม : เมื่อได้รับ "เกลือ" หรืออาหารรสเค็มต่างๆ ร่างกายจะดูดน้ำกลับเข้าสู่กระแสเลือดมากขึ้น เป็นผลให้ปริมาณสารน้ำในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นและควบคุมได้ยาก ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม โดยไม่เติมเกลือน้ำปลาหรือซีอิ๊วในอาหารอีก นอกจากนั้นควรงดผงชูรสหรืออาหารที่มีผงชูรสอยู่มากด้วย เนื่องจากผงชูรสมีเกลือโซเดียมเช่นกัน ไม่แนะนำให้ใช้เกลือเทียม เช่น เกลือโปแตสเซียมแทนเกลือแกง เนื่องจากเป็นอันตรายได้ในผู้ที่มีไตเสื่อม อาหารที่แนะนำนอกจากไข่เค็มแล้วควรจะเป็นอาหารที่พลังงานต่ำ และมีไขมันจากสัตว์น้อย เพิ่มการรับประทานปลาแทนเนื้อหรือหมู และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงต่างๆ ขนมหวาน เน้นผักและผลไม้ที่ไม่หวานจัดแทน

3. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ :การออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็วๆ วิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ครั้งละ 20-30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากจะช่วยลดความดันโลหิตลงบ้างแล้วยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ควบคุมน้ำหนักได้ง่าย ไขมัน คอเลสเตอรอลชนิดดีเพิ่มขึ้น จิตใจแจ่มใส สำหรับผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมาก หรือผู้สูงอายุ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย หากท่านไม่สามารถจัดเวลาเพื่ออกกำลังกายได้ แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ท่านทำอยู่แล้วแทน เช่น ใช้การเดินขึ้นบันไดแทนลิฟท์ เดินไปตลาดหรือทำงานบ้านด้วยตนเอง

4. งดบุหรี่:การสูบบุหรี่มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วขณะ แม้ว่าการเลิกบุหรี่อาจไม่มีผลลดความดันโลหิตในระยะยาว แต่ไม่สูบบุหรี่จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง มะเร็งอีกหลายชนิด และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของคนใกล้ชิดอีกด้วย

5. ลดแอลกอฮอล์: แม้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยๆ อาจช่วยเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดีได้บ้าง แต่ไม่แนะนำให้ดื่มเนื่องจากผลเสียของการดื่มแอลกอฮอล์มีมากกว่าผลดี อย่าเชื่อโฆษณาที่แนะนำให้ดื่มไวน์เพื่อสุขภาพ หากท่านดื่มอยู่แล้ว ก็ควรจำกัดปริมาณให้น้อยกว่าวันละ 2 แก้ว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมีส่วนช่วยในการควบคุมความดันโลหิตและลดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ของโรคหลอดเลือดหัวใจ แต่หากหลังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ การรักษาโรคโดยการใช้ยาเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอหลังจากที่ทราบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง(1)

สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ ที่ ๆ NaaToy ทำงานมีการบรรยายเรื่อง "เพื่อสุขภาพความดันที่ดีกว่า" ฟังแล้วมันน่าสนใจดี เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรเฝ้าระวัง ก็เลยหาข้อมูลเป็นภาษาไทยมาให้อ่านกัน เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงโทษของโรคนี้ เรื่องราวนี้นำมาจาก http://www.bangkokhealth.com/ ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

ภาวะความดันโลหิตสูง พบได้ประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก เป็นภาวะเรื้อรังที่พบได้บ่อยในคนไทยและสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธีการง่ายๆ

อย่างไรจึงจะเรียกว่าความดันโลหิตสูง
โดยปกติผู้ที่อายุไม่ถึง 40 ปี ความดันโลหิตไม่ควรเกิน 140/90 มม.ปรอท ค่าความดันตัวบนอาจจะเพิ่มขึ้นตามอายุ จะทราบค่าความดันโลหิตตัวบนปกติของแต่ละอายุได้ โดยนำจำนวนอายุมาบวกกับ 100 โดยทั่วไปความดันตัวบนไม่ควรเกิน 160 มม.ปรอท และความดันตัวล่าง (ในผู้ใหญ่) ไม่อายุเท่าไหร่ก็ตามไม่ควรเกิน 90 มม.ปรอท

อาการสำคัญที่พบในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง คือ
- ปวดศีรษะ มึนงง โดยทั่วไปจะปวดบริเวณท้ายทอย และมักจะเป็นในตอนเช้า ถ้าความดันโลหิตสูงมากและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะมีอาการคลื่นไส้ และตามัวร่วมด้วย ในบางรายอาจจะมีอาการอื่นร่วมด้วย
- เหนื่อยง่าย เนื่องจากหัวใจต้องทำงาน
- เลือดกำเดาออก

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีความดันโลหิตสูงแล้วไม่รักษาหรือรักษาและปฏิบัติตัวไม่สม่ำเสมอ
- สายตาเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว หรือตาบอด หลอดเลือดในตาอาจตีบตันหรือแตกมีการตกเลือดในตาหรือบวมในชั้นตาที่รับภาพ
- อาการทางสมอง หลอดเลือดในสมองตีบหรือแตก มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาจชักหรือไม่รู้สึกตัว และอาจเกิดอัมพาตถ้ารักษาไม่ทัน
- หัวใจล้มเหลว จากการที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องทำงานมากขึ้น จึงทำให้หัวใจโต เกิดอาการเหนื่อย หอบหายใจลำบาก โดยเฉพาะทางกลางคืน และภาวะความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อขาดเลือดจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
- ไตพิการ หรือไตอักเสบ เกิดอาการบวม

ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีชีวิตยืนยาวได้เช่นคนปกติหรือไม่
สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงไม่มาก และได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มแรกต่อเนื่อง และปฏิบัติตัวอย่างสม่ำเสมอโดยยังไม่มีภาวะหัวใจโต หรือกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ไม่มีภาวะไตวาย และหลอดโลหิตยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนักมีโอกาสจะมีชีวิตยืนยาวได้เช่นคนปกติ แต่ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแล้วควรได้รับดูแลการรักษาอย่างต่อโดยแพทย์เฉพาะทางมิเช่นนั้นแล้ว โอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาวย่อมน้อยลง